Article

ถึงแม้ว่าช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะทำให้ปริมาณขยะในปี 2563 ลดลง แต่กลับพบว่าปริมาณขยะพลาสติกมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอีกทั้งยังเป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้น้อย เพราะส่วนมากเป็นขยะพลาสติกแบบที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อนใส่อาหาร กล่องโฟมใส่อาหาร ขวดและแก้วน้ำพลาสติก เป็นต้น เรื่องของปัญหาขยะ..ก็ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศไทย

      ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีปริมาณลดลงกว่าปีที่ผ่านเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่ทำให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 33 ล้านคน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2564) ประกอบกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ของรัฐบาลไทย ที่ใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและการรวมตัวของคนในพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มงวด ทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินการมีระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน พร้อมสั่งให้เปิดสถานบริการหลายแห่ง โดยเฉพาะผับ บาร์ ร้านอาหาร ตามมาตรการ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ส่งผลให้ธุรกิจรับส่งอาหาร หรือ food delivery ถูกใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2563 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้น ประมาณ 25.37 ล้านตัน หรือประมาณ 69,322 ตันต่อวัน มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยชุมชนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1.05 กิโลกรัม/ คน/วัน นอกจากนี้ปริมาณขยะมูลฝอยดังกล่าวมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 8.36 ล้านตัน หรือประมาณ 22,834 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น ร้อยละ 33 ของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้น ซึ่งลดลงกว่าปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 44 ของขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้น) เนื่องจากปัจจัย ที่เกี่ยวข้องหลายประเด็น ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปคัดแยกขยะมูลฝอย ในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน เพราะหวั่นเกรงการแพร่เชื้อจากการลักลอบทิ้งขยะมูลฝอยที่อาจมีเชื้อโรคในสถานที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นผลจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ซบเซาจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ร้านรับซื้อของเก่า หลายแห่งต้องปิดตัวลง และส่งผลต่อเนื่องทำให้ขยะมูลฝอยชุมชนประมาณ 7.88 ล้านตัน หรือประมาณ 21,526 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 31 ของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้น ถูกนำมากำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง (ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ )
      แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าปริมาณขยะมูลฝอยโดยรวมจะลดลง แต่กลับพบว่ามีสัดส่วนองค์ประกอบขยะมูลฝอยประเภทขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic) เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 6,300 ตัน/วัน (เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 15) จากในช่วงสถานการณ์ปกติที่มีขยะพลาสติกประมาณ 5,500 ตัน/วัน นอกจากนี้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า มีการใช้บริการแอปพลิเคชัน food delivery ในปี พ.ศ.2563 ถึง 66-68 ล้านครั้งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนราว 78-84% เรียกว่าเป็นอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยข้อมูลของการใช้งาน application สำหรับสั่งอาหารมีสถิติการใช้งานเพิ่มขึ้นราว 300-400% เทียบกับช่วงก่อน COVID-19 จะเห็นได้ว่าผลจากการที่ธุรกิจ food delivery ที่ได้รับความนิยม มากขึ้นทำให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single use-plastics) มากขึ้นด้วย โดยมีการประมาณการว่าต่อ 1 ยอดการสั่งซื้อจะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น อาทิกล่องอาหาร ถุงใส่นํ้าจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงนํ้าซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำ หรับใส่อาหารทั้งหมด (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์) ทั้งนี้ยังไม่รวมขยะจากหน้ากากอนามัย
      รัฐบาลเองได้ตระหนักถึงปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการขยะพลาสติกและการจัดการปัญหาขยะทะเลผ่านการผลักดันนโยบายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยผ่านมาตรการด้านต่างๆอาทิ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 - 2573) โดยมุ่งเน้นการลด และเลิกใช้พลาสติกบางประเภท และการนำขยะพลาสติกบางประเภทกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปีพ.ศ. 2570 การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในการจัดการขยะพลาสติกและการจัดการขยะทะเลของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนผ่านแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปีพ.ศ. 2562 โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนให้ครอบคลุมทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง โดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า มุ่งเน้น การลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม และส่งเสริมการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2561 ประเทศไทยมีการผลักดันนโยบายในการลดปริมาณขยะพลาสติกในหลายรูปแบบ เช่น การงดการแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์-มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ กว่า 75 บริษัท ผ่านแคมเปญ Everyday Say No To Plastic Bags เพื่อลดการใช้ ‘ถุงพลาสติกหูหิ้ว’ ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์สื่อสารเรื่องการลดใช้พลาสติก และใช้หลัก 3 Rs คือ R: Reduce ลดการใช้ ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น  R: Reuse ใช้ซ้ำ และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และ R: Recycle แปรรูปมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสร้างความตระหนักในการแก้ไขปัญหาขยะ จิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและสถานประกอบการ เพื่อนำไปสู่การจัดการขยะที่ยั่งยืนและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
                                                                      เรียบเรียงโดย
                                                                      มุจลินทร์ ผลจันทร์

Back
31.01.2022