Article

เปลี่ยนการรีไซเคิลให้ง่าย ไม่แพง และชุมชนเข้าถึงได้ เพื่อการหมุนเวียนพลาสติกอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับในการคัดแยกขยะต้นทาง แม้จะมีการรณรงค์และเชิญชวนให้ร่วมมือกันแยกขยะ แต่วัฒนธรรมนี้ยังมิได้ถูกผนวกเข้าในชีวิตประจำวันของคนไทย จึงทำให้การแยกขยะส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ปลายทางหรือจุดรับขยะเพื่อไปกำจัด ส่งผลให้ขยะพลาสติกที่ควรถูกนำไปรีไซเคิลได้เกิดการปนเปื้อน สกปรก และไม่เหมาะแก่การนำไปรีไซเคิล และเนื่องจากการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ทำให้ราคารับซื้อขยะพลาสติกปรับลงอย่างมาก จึงยิ่งทำให้แรงจูงใจในการแยกขยะลดต่ำลงอีก
แนวคิดการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยตนเอง เป็นอีกหนทางหนึ่งที่สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้กับพลาสติก นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกและเพิ่มปริมาณขยะส่วนที่นำไปรีไซเคิลได้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแยกขยะที่ต้นทาง ปลูกฝังนิสัยการแยกขยะในครัวเรือน และทำให้คนในชุมชนใกล้ชิดกับกิจกรรมการจัดการขยะมากขึ้น การส่งเสริมให้ชุมชนสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ด้วยตนเองยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งขยะออกไปกำจัดภายนอก เนื่องจากขยะพลาสติกสามารถรีไซเคิลได้เบ็จเสร็จในชุมชนเอง และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการขนส่งและการฝังกลบขยะ ในขณะเดียวกันชุมชนยังสามารถสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลขยะเหล่านั้นกลับมาที่ชุมชนอีกด้วย
รูปภาพจาก Khaosod English (https://www.khaosodenglish.com/featured/2019/05/13/precious-plastic-recycling-bangkok-one-bottle-cap-at-a-time/)
แนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นจากนาย Dave Hakkens ชาวดัตช์ โดยเมื่อปี 2013 ได้ออกแบบเครื่องรีไซเคิลพลาสติก และเผยแพร่ฟรีทางอินเตอร์เน็ต บนความเชื่อที่ว่าขยะพลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ง่ายในชุมชนของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก ทำให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำขยะพลาสติกรีไซเคิลไปขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง จากนั้น กลุ่ม Precious Plastic Bangkok นำโดย โดมินิก-ภูวสวัสดิ์ จักรพงศ์ นักสิ่งแวดล้อมลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ได้ต่อยอดไอเดียของ Dave Hakkens โดยการนำโมเดลนี้มาใช้ในกรุงเทพฯ โดยติดตั้งเครื่องรีไซเคิลพลาสติกเครื่องแรกที่ชุมชนบึงพระรามเก้า ทั้งยังร่วมมือกับองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่าง Trash Hero เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านปัญหาพลาสติกในวงกว้าง
โดมินิกเข้าใจว่าการทำให้คนไทยเริ่มรีไซเคิลต้องเริ่มต้นด้วยตัวเลือกที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น บิดฝาขวดชาเขียวแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วโยนลงในกล่อง เพื่อเป็นการเริ่มต้นการแยกขยะอย่างง่าย อีกทั้งฝาขวดพลาสติกยังเป็นขยะส่วนที่ไม่ค่อยได้นำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล เนื่องจากฝาขวดเครื่องดื่มแต่ละยี่ห้ออาจทำมาจากพลาสติกต่างชนิดกัน และอาจเป็นคนละชนิดกับตัวขวดพลาสติก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการรีไซเคิล เขาจึงริเริ่มโครงการรีไซเคิลฝาขวดพลาสติกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย โดยเริ่มจากการนำฝาขวดพลาสติกมาตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นหลอม และขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่างๆ ตามต้องการ โดยมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้เพียงไม่กี่เครื่อง และราคาไม่แพง
รูปภาพจาก Khaosod English (https://www.khaosodenglish.com/featured/2019/05/13/precious-plastic-recycling-bangkok-one-bottle-cap-at-a-time/)
ตัวอย่างองค์กรอื่นที่มีแนวคิดในการนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลอย่างง่าย เพื่อนำมาเป็นของใช้และจัดจำหน่าย ได้แก่ YOLO - Zero Waste Your Life ที่นำขยะพลาสติกชนิด HDPE มาทำกระถางปลูกต้นไม้ Endeva Project ที่นำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าพลาสติก และสามารถผลิตได้โดยคนในชุมชน
รูปภาพจาก YOLO - Zero Waste Your Life (https://www.facebook.com/1942271086025738/posts/2958716181047885/?d=n)
รูปภาพจาก Endeva (https://endeva.org/blog/fullcirclefilamentblog)
ขอขอบคุณข้อมูลคุณภาพและรูปภาพสวยงามจากเวปไซด์ Khaosod English, The Cloud, Endeva และ YOLO - Zero Waste Your Life
Back