Article

ทางรักษ์โลก

การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เป็นบล็อกปูถนน และถนนต้นแบบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภคเป็นความท้าทายที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ และกลายเป็นโจทย์สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ประเทศไทยมีขยะพลาสติกปีละประมาณ 1.5 ล้านตันที่ยังไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธี จากสถิติพบว่าคนไทยใช้พลาสติกประมาณ 8 ชิ้นต่อคนต่อวัน ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรรวม 65 ล้านคน นั่นคือคนไทยทั้งประเทศจะใช้พลาสติกประมาณ 520 ล้านชิ้นต่อวัน และเกิดเป็นขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่ต้องถูกจัดการต่อไป นอกจากนี้แม้ว่าระบบการจัดการขยะในหลายท้องที่ของประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะมีการบูรณาการกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานเข้าไว้ด้วยกัน อันได้แก่ กระบวนการจัดการขยะมูลฝอยโดยการคัดแยกขยะที่ต้นทาง การจัดการขยะรีไซเคิลแบบครบวงจร การจัดการชีวมวลเหลือใช้ รวมถึงการจัดการกากไขมันจากโรงอาหารเพื่อการผลิตไบโอดีเซล อย่างไรก็ตาม เศษขยะพลาสติกที่เข้ากระบวนการรีไซเคิลไม่ได้หรือไม่ถูกรับซื้อ มักจะเป็นสิ่งที่เหลือจากกระบวนการคัดแยกดังกล่าว ที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการจัดการที่ชัดเจน ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และถูกยกให้เป็นวิกฤติปัญหารุนแรงต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง นำมาสู่การเดินหน้าจัดทำแผนการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้กับพลาสติก ตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิต การใช้งาน และการวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบอีกครั้ง เพื่อให้การผลิตและบริโภคทรัพยากรเหล่านี้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก และนำมาซึ่งโครงการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่พยายามนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ บทความนี้จะขอยกตัวอย่างการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เป็นบล็อกปูถนนและถนนต้นแบบ

‘โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิล’ โครงการของภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของ ศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ อาจารย์เป้า ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ ‘ถนนรีไซเคิล’ ผลงานของอาจารย์มาต่อยอด จนกลายเป็นอีกนวัตกรรมซึ่งช่วยจัดการขยะพลาสติกที่ล้นโลกให้หมุนเวียนและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการนำถุงพลาสติกแบบต่าง ๆ มาผสมในส่วนประกอบผลิตวัสดุปูถนนร่วมกับยางมะตอย เนื่องจากยางมะตอยและพลาสติกมาจากกระบวนการเผาปิโตรเคมีซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน ทำให้เกิดแรงยึดเหนี่ยวที่ทำให้วัสดุยึดเกาะกันได้ดีขึ้น ส่งผลให้วัสดุมีความแข็งแรง นำไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการถนนรีไซเคิล ในปัจจุบันสามารถพัฒนาให้ค่าความแข็งแรงของยางมะตอยสูงกว่ามาตรฐานปกติก่อนผสมขยะถุงพลาติก ได้ถึงร้อยละ 300 ยางมะตอยที่มีความแข็งแรงมากขึ้นหมายความว่า ถนนมีความทนทานและมีอายุการใช้งานนานขึ้น รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงได้อีกทางหนึ่ง


รูปภาพจาก The Cloud (https://readthecloud.co/recycled-plastic-pavement-blocks/)

โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลนั้นใช้วัสดุชนิดเดียวกันกับโครงการถนนรีไซเคิล โดยนำมาตัดแบ่งเป็นบล็อกปูถนนที่มีความทนทานสูงในราคาต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก ขั้นตอนการผลิตเริ่มแรกคือ การคัดแยกขยะ เนื่องจากขยะถุงพลาสติกคือวัสดุที่รถรับซื้อของเก่าไม่รับซื้อ ขยะถุงพลาสติกจึงกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของบล็อกปูถนนรีไซเคิล จากนั้นจึงนำถุงพลาสติกมาย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อใช้พลังงานการหลอมละลายให้น้อยที่สุด เมื่อย่อยชิ้นพลาสติกแล้วจึงนำไปตากให้แห้ง จากนั้นจึงนำพลาสติก 1 ส่วน ผสมกับทราย 3 ส่วน ซึ่งทรายที่ใช้จะเป็นทรายหยาบหรือละเอียดก็ได้ เมื่อชั่งส่วนผสมจนได้อัตราส่วนที่ถูกต้องแล้ว จึงนำทรายใส่ในเครื่องผสมร้อนที่ทางภาควิชาคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา ทิ้งไว้ให้อุณภูมิสูงประมาณ 240 องศาเซลเซียส จึงนำพลาสติกใส่เข้าไป ให้เกิดการผสมและหลอมละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกันราว 5 – 10 นาที จากนั้นจึงเทวัสดุที่หลอมรวมกันแล้วบรรจุในพิมพ์เหล็ก แล้วอัด กระทุ้ง หรือตอก ด้วยค้อนเหล็กให้ได้ 70 – 75 ครั้ง จึงทิ้งให้เซ็ตตัว

‘ต้นแบบถนนขยะพลาสติก’ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้จัดตั้งโครงการ “Thailand Public Private Partnership for Plastic and Waste Management” (PPP) โดยมีบริษัทดาวประเทศไทย (DOW Thailand) เอสซีจี (SCG) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำวิจัยร่วมกันเพื่อนำองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาช่วยส่งเสริมความตั้งใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ในรูปของส่วนผสมของวัสดุก่อสร้าง เช่น แอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อน บล๊อคปูถนน และยางมะตอยชนิดผสมเสร็จ


รูปภาพจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (https://erdi.cmu.ac.th/?p=2228)

การทำถนนยางมะตอยแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคย ยางมะตอยที่ใช้มาจากการผสมระหว่างหินฝุ่น หินคลุกและ Asphalt Cement จากนั้นจึงทำการฉีดพ่นลงบนถนนที่ทำการบดอัดเตรียมที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ขยะพลาสติกเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนประกอบหนึ่งในขั้นตอนการคลุกหิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนยางมะตอยและเป็นการนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทดแทนการนำไปฝังกลบหรือเผากำจัด จากความร่วมมือของ สำนักงานอธิการบดี สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเกิดโครงการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อนที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ ให้เพียงพอกับการซ่อมบำรุงถนนและลานจอดรถในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตบล๊อคปูถนนแอสฟัลต์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ ผลิตยางมะตอยชนิดผสมเสร็จที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ เพื่อสร้างการเรียนรู้นำร่องในการนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมของแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อน บล๊อคปูพื้น และยางมะตอยชนิดผสมเสร็จ ผลการดำเนินงานสามารถผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อนที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 12 ตันต่อปี ผลิตบล๊อคปูถนนแอสฟัลต์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 6 ตันต่อปี และผลิตยางมะตอยชนิดผสมเสร็จที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 8 ตันต่อปี สามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกจากการคัดแยกของโรงชีวมวลครบวงจร และตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง zero waste

นอกจากนี้ ทางธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมมือดำเนินการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิล ที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ. ระยอง นับเป็นต้นแบบในการนำขยะพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะพลาสติกภายในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีที่จังหวัดระยองและครัวเรือนในชุมชน จ. ระยอง เช่น ถุงพลาสติก และถุงใส่อาหาร จากนั้นนำพลาสติกที่ผ่านการคัดแยก มาผ่านกระบวนการบดย่อยให้มีขนาดเล็กลง และนำพลาสติกที่บดแล้วนั้นมาผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ในการปูถนน โดยต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นนี้ มีระยะรวม 220 เมตร มีความกว้างของถนน 3 เมตร ความหนา 6 เซนติเมตร จึงถือเป็นการสร้างคุณค่าให้กับพลาสติกประเภทที่ปกติไม่ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือ นำกลับมารีไซเคิลอย่างเหมาะสม และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจอย่างแท้จริง โครงการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลถูกวางแผนขยายผลสำเร็จ โดยจะดำเนินการนำร่องบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ รวมทั้งสิ้น 2,600 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะใช้ขยะพลาสติกประมาณ 1.3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกจำนวน 100,000 ใบที่เดิมเคยถูกฝังในดินเพื่อกำจัดหรืออาจไหลลงสู่ทะเล ถูกนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อสร้างเป็นถนน


รูปภาพจาก SCG (https://www.scg.com/innovation/recycled-plastic-road/)

ผลลัพธ์ของงานวิจัยถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ทดสอบโดยภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับถนนยางมะตอยทั่วไป ถนนพลาสติกรีไซเคิลที่มีขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบนั้นมีคุณสมบัติของผิวถนนที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมประมาณร้อยละ 15-30 และประสิทธิภาพด้านการยึดเกาะถนนที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ดีเกินคาด ทำให้วิธีการนี้นอกเหนือจากช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศ แล้วยังหมายถึงการพัฒนาประยุกต์ใช้ขยะพลาสติกให้เกิดประโยชน์สำหรับการทำถนนยางมะตอยที่มีคุณภาพอีกด้วย

การสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลครั้งนี้จึงนับเป็นโครงการนำร่องที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านนวัตกรรมการหมุนเวียนขยะพลาสติก เพื่อเกิดการใช้งานรูปแบบใหม่ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม ซึ่งจะส่งผลแบบองค์รวมต่อทั้งด้านอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนโยบายสมาร์ทซิตี้ของทางภาครัฐบาล ในการสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งแรกในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมุ่งหวังว่าจะสามารถขยายโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลสู่การใช้งานจริงในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ทั้งหมดนี้คือการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลากหลายข้อไปพร้อมกัน ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 9 Industry, Innovation and Infrastructure ที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 Climate Action ที่มุ่งเน้นการบูรณาการมาตรการรับมือสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลคุณภาพและรูปภาพสวยงามจากเวปไซด์ The Cloud, SCG และสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Back
19.02.2022